ท่านที่เคยโดยสารเครื่องบินมาแล้ว คงคุ้นเคยดีกับภาพของเจ้าหน้าที่สนามบิน ถือวัตถุรูปลักษณะเป็นแท่งยาวๆ อันหนึ่งยกกวาดไปตามลำตัว ของผู้โดยสารตั้งแต่หัวจรดเท้าโดยปราศจากรังสีใดๆ ที่สามารถมองเห็นได้อยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะให้ผ่านไปได้หากไม่มีเสียงสัญญาณเตือน เจ้าวัตถุรูปแท่งที่ว่านี้ก็คือเครื่องตรวจจับโลหะนั่นเอง หลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าเครื่องตรวจจับโลหะที่ว่านี้ทำงานได้อย่างไร วันนี้เราจะมาค้นหาคำตอบกัน
หลักการทำงานของเครื่องตรวจจับโลหะ อาศัยหลักที่ว่า วัตถุที่นำไฟฟ้า เช่น โลหะ จะตอบสนองต่อ สนามแม่เหล็กไฟฟ้า แตกต่างจากวัตถุที่ไม่นำไฟฟ้า หัวตรวจจับโลหะมีหลายชนิด แต่มีหลักการทำงานใกล้เคียงกัน คือ เมื่อเปิดเครื่อง กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าไปยัง ขดลวดโลหะที่ปลายหัวตรวจจับ ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้น โดยมีขั้วอยู่ในแนวตั้งฉาก กับทิศทางของขดลวด หากสนามแม่เหล็กดังกล่าวไปกระทบกับวัตถุที่นำไฟฟ้าได้ดี เช่น โลหะ จะกระตุ้นให้วัตถุดังกล่าวนั้น เกิดสนามแม่เหล็กอ่อนๆ ในทิศทางตรงข้ามกัน ทำให้สนามแม่เหล็กที่สะท้อนกลับมา สู่หัวตรวจจับเกิดการเปลี่ยนเฟส ยิ่งวัตถุมีการนำไฟฟ้าดีมากขึ้น การเปลี่ยนเฟสก็มากขึ้นตามด้วย จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้สามารถทราบได้ว่า มีวัตถุที่ทำจากโลหะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่
เครื่องตรวจจับโลหะส่วนใหญ่ สามารถตรวจจับวัตถุที่อยู่ลึกลงไปจากผิวหน้า 8-12 นิ้ว ความสามารถในการตรวจจับวัตถุ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ นอกจากชนิดและความไวของหัวตรวจจับแล้ว ชนิดของโลหะ ก็มีผลต่อการตรวจจับด้วย โลหะบางชนิด เช่น เหล็ก สามารถสร้างสนามแม่เหล็กได้แรงกว่าโลหะอื่น การตรวจจับจึงทำได้ง่าย ขนาดของวัตถุก็มีส่วนสำคัญ วัตถุที่มีขนาดเล็กถูกตรวจจับได้ยากกว่าวัตถุขนาดใหญ่ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงสามารถพกเหรียญ หรือลูกกุญแจเข้าไปได้ โดยที่เครื่องตรวจจับ ไม่ส่งสัญญาณเตือนแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย เช่น มีวัตถุที่สามารถป้องกันสนามแม่เหล็ก ไม่ให้ผ่านไปถึงวัตถุที่จะตรวจจับหรือไม่ เป็นต้น เครื่องตรวจจับโลหะสมัยใหม่ นอกจากตรวจจับได้ว่า มีวัตถุที่ทำจากโลหะได้แล้ว ยังสามารถระบุขนาด และความลึกของวัตถุอย่างคร่าวๆ ได้อีกด้วย
เครื่องตรวจจับโลหะ นอกจากใช้ในสนามบิน และตามอาคารสถานที่สำคัญ เพื่อการรักษาความปลอดภัยแล้ว ยังมีการนำไปใช้ในงานด้านอื่นได้อีก เช่น ใช้ในการตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของท่อ หรือสายเคเบิลที่ฝังอยู่ในอาคาร ตรวจหาส่วนประกอบโลหะในดินหรือหิน รวมทั้งใช้ในการสืบหาวัตถุโบราณ ที่ทำจากโลหะที่ฝังอยู่ใต้ดิน เพื่อประโยชน์ในทางโบราณคดีได้อีกด้วย
0 ความคิดเห็น